ในช่วงนี้ แอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศไทย ก็คงจะหนีไม่พ้น Clubhouse ซึ่งหลายๆ คนอาจจะยังไม่คุ้นหรือสงสัยว่าแอปพลิเคชันนี้เอาไว้ทำอะไรกันแน่ วันนี้เรามาทำความรู้จักแอปพลิเคชันนี้เพิ่มเติมกันครับ
แอปพลิเคชัน Clubhouse คืออะไร?

เป็นโซเชียลมิเดียแพลตฟอร์มใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปี 2020 พัฒนาโดย พัฒนาโดย Alpha Exploration Co. โดยจะเน้นการสื่อสารกันด้วยเสียงเป็นหลัก จะไม่มีการพิมพ์, ส่งข้อความ, รูปภาพ แตกต่างจากแอปพลิเคชันโซเชียลมิเดียอื่นๆ
ในปัจจุบันนี้ ยังจำเป็นต้องมีการเชิญจากผู้ใช้เท่านั้น (Invite Only) และจะต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ในรายชื่อของผู้เชิญถึงจะทำการเชิญได้ เนื่องจากตอนนี้ยังคงเป็นเวอร์ชัน Beta ยังไม่ได้เปิดให้ใช้งานได้แบบทั่วไป จึงอยากให้เป็นคนที่รู้จักเพื่อเข้ามาในการใช้งานก่อน แต่ถ้าใครที่ยังไม่มีบัตรเชิญจากท่านอื่นๆ ก็สามารถเข้าไปสมัครเพื่อทำการจอง Username ไว้ได้ แต่จะไม่สามารถใช้งานในส่วนอื่นๆ ได้
นอกจากนี้ แอปพลเคชันนี้มีให้ดาวน์โหลดได้บนระบบปฏิบัติการ iOS, iPadOS เท่านั้น ผู้ใช้งาน Android ยังไม่มีให้ดาวน์โหลดได้ในตอนนี้
แล้วใช้งานอย่างไรบ้าง?
เมื่อเป็นผู้ใช้งานได้แบบเต็มตัวแล้ว ผู้ใช้งานจะสามารถเลือกได้ว่าตนเองจะผู้ดูแล (Moderator), ผู้พูด (Speaker) และผู้ฟัง (Listener) ซึ่งการทำงานและการใช้งานหลักๆ ในแอปพลิเคชันตอนนี้ก็จะมีสองรูปแบบนี้
โหมดผู้ดูแล, ผู้พูด
ผู้พูด จะสามารถสร้างห้องเพื่อตั้งหัวข้อเปิดห้องพูดคุย รวมถึงเชิญผู้ใช้งานคนอื่นๆ มาเป็นผู้พูดร่วมในห้องนั้นๆ ได้ โดยสามารถตั้งวันและเวลาเพื่อให้ผู้ฟังเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มพูดได้ หากมองให้ง่ายขึ้นก็คือ ผู้เปิดห้องก็เปรียบเสมือนพิธีกรดำเนินรายการหรือวิทยากรไปในตัว ผู้พูดท่านอื่นๆ ก็เปรียบเสมือนแขกรับเชิญมาพูดในหัวข้อที่กำหนดไว้ ซึ่งสามารถพูดคุยโต้ตอบกันได้ทันที หรือจะสามารถเลือกปิดไมค์ในช่วงที่ผู้พูดท่านอื่นพูดก็ได้
โหมดผู้ฟัง
หากเจอห้องไหนที่น่าสนใจ เราสามารถกดเข้าไปฟังได้ทันที โดยการฟังจะเป็นการฟังแบบสดๆ ไม่สามารถฟังย้อนหลังได้ รวมถึงยังไม่มีโหมดบันทึกเสียงไว้ฟังภายหลัง (แต่สามารถบันทึกหน้าจอของสมาร์ตโฟนเพื่อมาฟังภายหลังเองได้) หากมองให้ง่ายขึ้นก็เหมือนการฟังรายการวิทยุนั่นเอง ซึ่งในแต่ละห้องก็จะมีการแจ้งวันและเวลาก่อนล่วงหน้า เพื่อให้เราจัดตารางเวลาในการฟัง และในตอนที่สมัครเข้าใช้งาน เราก็สามารถเลือกสิ่งที่ชื่นชอบไว้ได้ เพื่อที่แอปพลิเคชันจะทำการเลือกห้องที่คาดว่าเราน่าจะสนใจมาให้

ถ้าหากผู้ฟังต้องการจะพูดหรือสอบถาม ก็สามารถแตะปุ่มไอค่อนรูปมือ เพื่อยกมือแล้วรอให้เจ้าของห้องอนุญาตถึงจะสามารถพูดได้ และเมื่อออกจากแอปพลิเคชัน ก็ยังสามารถฟังต่อเนื่องได้อยู่ นั่นหมายความว่าคุณสามารถฟังได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะไปใช้งานแอปพลิเคชันอื่นๆ ได้ ถ้าหากต้องการออกจากห้องเพื่อให้เสียงหายไป ต้องทำการกดปุ่ม Leave quietly เท่านั้น
ทำไม Clubhouse ถึงได้รับความนิยม?
ถึงแม้แอปพลิเคชันนี้จะเปิดใช้งานมาตั้งแต่ช่วงปี 2020 แต่ก็ยังมีผู้ใช้ไม่มากนัก และเกือบทั่วโลกยังไม่รู้จักแอปพลิเคชันนี้ จนกระทั่ง Elon Musk ซีอีโอของ Tesla และ SpaceX ได้ทำการโพสต์ในทวิตเตอร์ว่า จะมีการจัดทอล์คในแอปพลิเคชัน Clubhouse เรื่องความใฝ่ฝันของเขาที่อยากย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่ดาวอังคาร ทำให้วันนั้นแอปพลิเคชันนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นมา และยังมีการขาย Invite กันในราคาแพงถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,000 บาท) อีกด้วย
และในประเทศจีนก็มีการหาซื้อ Invite กันในราคา 77 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,300 บาท เหตุผลที่ทำให้ชาวจีนยอมจ่ายนั้น เพราะแพลตฟอร์มที่มีห้องสนทนาแบบส่วนตัวและเมื่อจบการเสวนาแล้ว ห้องนั้นก็จะถูกปิดลงไปและที่ๆ คุยกันไปก็จะหายไปด้วย ทำให้สามารถคุยกันในเรื่องประเด็นต่างๆ ได้ แต่ล่าสุดบางเมืองของประเทศจีนก็เริ่มทำการแบนแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมาแล้ว
ในประเทศไทย ก็เริ่มได้รับความนิยมกันเป็นอย่างมาก เหล่าคนดัง, เซเล็บ, อินฟลูเอ็นเซอร์ หรือแม้แต่คนทำเพจดังต่างๆ ก็เริ่มเข้ามาใช้งานแอปพลิเคชันนี้ และจัดห้องสำหรับการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ มากขึ้น จึงทำให้ผู้ใช้ในไทยต่างอยากจะเข้ามาใช้งานกันมากขึ้นด้วย
และแน่นอนว่าเพื่อนๆ สามารถติดตาม นดุจ StepGeek ใน Clubhouse กันได้ ค้นหา @stepgeek ได้เลย

ในไอค่อนแอปพลิเคชัน เป็นใคร?

แอปพลิเคชันจะมีการใส่ใจคอมมูนิตี้เป็นพิเศษ จะเห็นได้ว่า มีรูปบุคคลนึงในไอค่อนของแอปพลิเคชัน ซึ่งบุคคลนั้นก็คือ Axel Mansoor ครีเอเตอร์ของ Lullaby Club ที่เป็นผู้สร้างอิมแพคให้กับแอปพลิเคชัน โดยในตอนแรก เขาเริ่มใช้แอปพลิเคชั่นนี้ร้องแพลงกล่อมก่อนนอนกับเพื่อนเพียง 2-3 คนเท่านั้น แต่ปัจจุบัน Axel Mansoor มีผู้ติดตามมากกว่า 4 หมื่นคนแล้ว